14 คุณประโยชน์วิธีการใช้น้ำมันหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหย (Essential Oils) เป็นน้ำมันสกัดที่ได้จากพืชหรือสัตว์ที่มีกลิ่นหอม และมีองค์ประกอบทางเคมีมากมายหลายชนิด เมื่อสูดดมหรือสัมผัสผิวหนังจะซึมผ่านไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกายและสมอง รวมไปถึงส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจให้มีการปรับสมดุลย์ ทำให้เกิดการบำบัดอาการของโรคต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นที่มาของสุคนธ์บำบัด Aromatherapy (คำว่า “AROMA (สุคนธา)” แปลว่า กลิ่นหอม และ “THERAPY” คือ การบำบัดรักษา) นั่นเอง

ถึงแม้รูปแบบการใช้น้ำมันหอมระเหยจะมี 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ การสูดดมกับการสัมผัสทางผิวหนัง แต่การประยุกต์ใช้ในแต่ละแนวทางนั้นก็มีมากมายหลากหลายวิธี แต่มีข้อควรคำนึงถึงอยู่บ้างก็คือ การใช้น้ำมันหอมระเหยมักจะไม่ใช้น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์โดยตรงสัมผัสกับร่างกาย จำเป็นต้องมีการเจือจางตามสัดส่วนเสียก่อน เพราะน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์แท้ 100% มีความเข้มข้นสูงมาก ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้

spa photo

14 คุณประโยชน์วิธีการใช้น้ำมันหอมระเหย มีอะไรบ้าง ดังต่อไปนี้

1. การสูดดม (Inhalation)

การสูดดมไอน้ำที่เจือจางด้วยน้ำมันหอมระเหย เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาโรคหวัดหรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจแต่ควรระมัดระวังสำหรับคนที่เป็นโรคหอบหืด

วิธีการ คือ หยดน้ำมันหอมระเหยลงในชามหรือกะละมังที่ใส่น้ำร้อนไว้ แล้วใช้ผ้าขนหนูคลุมศีรษะก้มหน้าเหนือชามหรือกะละมังนั้น สูดดมไอระเหย หายใจลึกๆ นอกจากการสูดดมไอน้ำแล้ว ยังสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยเจือจาง หยดลงบนผ้าเช็ดหน้า สำลี กระดาษทิชชู แล้วสูดดมได้อีกด้วย

2. การนวดตัว (Aromatherapy massage)

เป็นวิธีการที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ การนวดโดยใช้น้ำมันหอมระเหยผสมเข้ากับน้ำมันพื้นฐาน (Base Oils) ที่ใช้นวดตัว เพื่อช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ ระบบประสาท เนื้อเยื่อ และผิวหนัง ลดอาการปวดเมื่อย ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น

การใช้น้ำมันหอมระเหยในการนวดตัว ทำได้โดยการหยดน้ำมันหอมระเหยประมาณ 2-3 % ลงไปผสมในน้ำมันพืชหรือน้ำมันพื้นฐาน (Baby Oils, JoJoba Oils) ที่ใช้สำหรับนวดตัว (หรือน้ำมันหอมระเหยประมาณ 20-25 หยด ต่อน้ำมันพื้นฐาน (Base OIls) 30 มิลลิลิตรหรือซีซี)

3. เตาน้ำมันหอมระเหย หรือ ตะเกียงน้ำมันหอมระเหย  (Fragrancer)

เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอีกวิธีหนึ่ง โดยการหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนเตาหรือตะเกียง ที่ใส่น้ำรองรับไว้แล้ว จุดเทียนใส่ด้านล่างเตา เพื่อความร้อนจากเทียน ซึ่งมีความร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส จะค่อยๆ ทำให้น้ำมันหอมระเหย แตกตัวกลายเป็นไอน้ำส่งกลิ่นหอมกระจายไปทั่ว ช่วยสร้างบรรยากาศ ทำให้ผู้ที่ได้สูดดมผ่อนคลาย และช่วยบำบัดอารมณ์และจิตใจตามคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยชนิดนั้นๆ

การใช้น้ำมันหอมระเหยกับเตาระเหยให้หยดน้ำมันหอมระเหย 3-5 หยด หยดลงในน้ำบนเตาระเหย

4. ผสมน้ำอาบ (Bathing)

วิธีการนี้ได้ทั้งแบบการสูดดมและแบบสัมผัสทางผิวหนัง วิธีการ คือ หยดน้ำมันหอมระเหยลงไปในอ่างอาบน้ำ ควรเป็นน้ำอุ่น ประมาณ 5 – 10 หยด ปิดประตูหรือผ้าม่าน แล้วทำการแช่ตัวลงนาน 10-15 นาที สูดดมกลิ่นโดยหายใจลึกๆ ถ้าเป็นคนที่มีผิวแพ้ง่าย ควรผสมน้ำมันหอมระเหยกับน้ำมันพื้นฐาน เพื่อเจือจางเสียก่อนจึงค่อยหยดลงไปในอ่างอาบน้ำ หรือ จะเป็นการอาบน้ำด้วยวิธีตักอาบหรือใช้ฝักบัวหลังอาบน้ำเสร็จก็ได้ โดยให้หยดน้ำมันหอมระเหยที่เจือจางแล้วลงบนผ้าหรือฟองน้ำหรือใยบวบ แล้วใช้ถูตัวด้วยน้ำหมาดๆ เสร็จแล้ว ล้างตัวทำความสะอาดอีกครั้ง

5. การแช่เท้า (Foot Bath)

หยดน้ำมันหอมระเหย 4-5 หยด ลงในอ่างน้ำร้อนแล้วแช่เท้านาน 10 นาที จะช่วยผ่อนคลายจากอาการอ่อนเพลียและความเมื่อยล้าได้

6. การแช่มือ (Hand Bath)

หยดน้ำมันหอมระเหย 3-4 หยด ลงในอ่างน้ำอุ่น แล้วแช่มือ 5-10 นาที จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมถึงยังรักษารอยแตกหยาบกร้านของผิวหนังบริเวณมือ

7. ฉีดพ่นละอองฝอย (Room Sprays)

ใช้น้ำมันหอมระเหย 10 หยดผสมกับน้ำ 7 ช้อนโต๊ะ และอาจผสมเหล้าว๊อดก้าหรือแอลกอฮอล์ 95% 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่ใส่ก็ได้) ลงในขวดแบบหัวฉีดสเปรย์ หรือ แบบละอองฝอย เขย่าให้ส่วนผสมเข้ากัน สามารถใช้ฉีดในห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร ห้องทำงาน หรือ ห้องนอน

คุณยังสามารถทำสเปรย์ไล่ยุงและแมลงต่างๆ ได้เอง ด้วยวิธีการนี้ โดยใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติไล่ยุงได้ เช่น กลิ่นตะไคร้ กลิ่นส้ม กลิ่นเจอราเนียม ซึ่งไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง เวลาไปพักค้างแรม หรือ เดินป่า หรือ ไปปฏิบัติธรรมตามวัดต่างๆ ท่านสามารถทำใช้เองได้ สะดวกและปลอดภัย

8. หยดลงบนหมอน (Pillow Talk)

สำหรับท่านที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับยาก แนะนำให้ลองใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติผ่อนคลาย เช่น กระดังงา กุหลาบ มะลิ ลาเวนเดอร์ หยดลงบนหมอนสัก 2-3 หยด จะช่วยให้หลับง่ายขึ้นและนอนหลับสบาย

9. กลั้วคอบ้วนปาก

หยดน้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดลงในน้ำ ¼ แก้ว คนให้เข้ากันใช้กลั้วคอหรือบ้วนปาก ช่วยบำบัดโรคในช่องปากและคอ ช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดกลิ่นปากได้ ส่วนใหญ่นิยมใช้กลิ่นเปปเปอร์มินท์

10. การประคบ (Compresses)

ใช้ผ้าขนหนู หรือ ผ้าเช็ดหน้าจุ่มแช่ลงในน้ำอุ่นที่ผสมด้วยน้ำมันหอมระเหย (หยดน้ำมันหอมระเหย 5-10 หยด ต่อน้ำ 160 มิลลิลิตรหรือซีซี) บิดพอหมาด ประคบบริเวณที่มีอาการ เช่น ปวดศีรษะ รอยฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก ปวดบวม ประคบไว้จนผ้าเย็น แล้วทำซ้ำ

11. น้ำมันบำรุงผิวหน้าและผิวกาย (Body and Facial Oils)

เราสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยผสมกับน้ำมันหรือโลชั่นที่ใช้บำรุงผิวพรรณทั้งใบหน้าและร่างกาย โดยใช้น้ำมันหอมระเหย 1% กับน้ำมันบำรุงผิวหน้าและใช้น้ำมันหอมระเหย 3% กับน้ำมันบำรุงผิวกาย

12.  เทียนหอม (Scented Candles)

สำหรับในการทำเทียนหอมนั้น เราสามารถผสมน้ำมันหอมระเหยโดยเติมลงไปในถ้วยเทียนทีไลท์ได้เลย เมื่อเวลานำมาจุดไฟ กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยก็จะระเหยให้กลิ่นหอมคล้ายคลึงกับการใช้เตาระเหย แต่กลิ่นที่ได้ อาจจะอ่อนกว่าการจุดแบบใช้เตาหรือตะเกียง หรือ อาจจะผสมน้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดลงในน้ำมันตะเกียงเวลาจุดตะเกียง ก็จะได้กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยออกมาด้วย

13. น้ำยาปรับผ้านุ่ม

นำน้ำส้มสายชูกลั่น 1 แกลลอน หรือประมาณ 3.8 ลิตร ผสมเข้ากับน้ำมันหอมระเหย โดยหยดน้ำมันหอมระเหยประมาณ 25-30 หยด แล้วคนผสมให้เข้ากัน คุณสมบัติของน้ำส้มสายชูกลั่นสามารถเปลี่ยนเนื้อผ้าที่แข็งกระด้างจากสิ่งสกปรกตกค้างให้กลับมานุ่ม สวมใส่สบาย ส่วนน้ำมันหอมระเหยช่วยผ้ามีกลิ่นหอมติดผ้า ซึ่งสามารถทำใช้เองได้ง่ายๆ และสามารถเลือกได้หลายกลิ่นตามต้องการเพื่อให้ตรงใจคนในบ้าน เมื่อผสมเรียบร้อยแล้วเราก็จะได้น้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว

วิธีใช้ ให้เทน้ำยาปรับผ้านุ่มที่เราผสมไว้ ¼ แก้ว (60 มิลลิลิตร) ลงในเครื่องซักผ้าน้ำสุดท้าย เพียงเท่านี้ผ้าก็จะหอมและนุ่มแล้ว

14. น้ำมันหอมระเหย กลิ่นวานิลลา และ น้ำมันหอมระเหย กลิ่นตะไคร้หอม ช่วยดับกลิ่นสีได้

หยดน้ำมันหอมกลิ่นวานิลลา หรือตะไคร้หอม ลงบนสำลีแบบก้อนกลม แล้วใส่ลงในชามที่เติมน้ำสะอาดก่อนวางไว้ทั่วห้อง ทิ้งไว้ 1 คืน เพียงเท่านี้ ก็ช่วยดับกลิ่นสีได้แล้ว

ทั้งหมดนี้ ก็คือ 14 คุณประโยชน์ของวิธีการใช้น้ำมันหอมระเหย ลองนำไปใช้กันดูนะครับ

 

กลับขึ้นบน